วันเข้าพรรษา
การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ
ซึ่งพระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง
การอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริง
ๆช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝนคือแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ดังนั้น วันเข้าพรรษา หมายถึง
วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัด
หรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่งไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด ๓
เดือนในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน
8 จนถึงกลางเดือน 11 วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่
2 วันคือ
-
วันเข้าปุริมพรรษา คือวันเข้าพรรษาแรกตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11
-
วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลังตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ถึงวันเพ็ญเดือน 12
วันเข้าพรรษานี้เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑. พระภิกษุจะหยุดจาริกแต่จะเข้าพักอยู่ประจำในวัดแห่งเดียวตามพุทธบัญญัติ
๒. มีโอกาสได้สงเคราะห์กุลบุตรที่ประสงค์จะอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมและพุทธบริษัท
๓. เป็นเทศกาลที่พระพุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง
ๆ
๔. พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทาน
รักษาศีลฟังธรรม และเจริญภาวนามากขึ้น
พิธีทางศาสนา
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ยังมีประเพณีสำคัญอยู่
๒ ประเพณี ควรนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
๑. ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน
เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆก็จำต้องปฏิบัติกิจวัตรเช่น
การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ
การศึกษาพระปริยัติธรรมกิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่างโดยเฉพาะ
แสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัยและเพื่อต้องการใช้แสงสว่างโดยตรงด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนจึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่
กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา ๓ เดือนไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ ๆบ้านเป็นพุทธบูชา
เทียนดังกล่าวเรียกว่า เทียนพรรษา เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ
ทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำประดับธงทิว
ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป
ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถหอพระธรรม
และพระวิหารจุดตามให้สว่างไสวในที่นั้นๆ ตลอด ๓ เดือน
๒. ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกา ชื่อว่า
วิสาขาได้ทูลของพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์
ได้มีผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำฝนระหว่างฤดูฝน
นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี
จึงนิยมนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายผ้าอาบน้ำฝนถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่พรรษา
พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ
________________________________________________________________________